วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2557

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

เมื่อครั้งเป็นนิสิต  ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของจิตร  ภูมิศักดิ์  อยู่บ้าง  แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด  หรือวิเคราะห์อะไร  เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่าเขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวางและลึกซึ้งถี่ถ้วน  ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน  ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน  ฟังติดหูมาจนถึงวันนี้
                       เปิบข้าวทุกคราวคำ                 จงสูจำเป็นอาจิณ
                เหงื่อกูที่สูกิน                                  จึงก่อเกิดมาเป็นคน
                      ข้าวนี้น่ะมีรส                            ให้ชนชิมทุกชั้นชน
               เบื้องหลังสิทุกข์ทน                         และขมขื่นจนเขียวคาว
                      จากแรงมาเป็นรวง                    ระยะทางนั้นเหยียดยาว
               จากกรวงเป็นเม็ดพราว                    ส่วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
                      เหงื่อหยดสักกี่หยาด                 ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
               ปูดโปนกี่เส้นเอ็น                             จึงแปรรวงมาเปิบกิน
                     น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง                      และน้ำแรงอันหลั่งริน
               สายเลือดกูท้งสิ้น                            ที่สูชดกำชาบฟัน

               ดูสรรพนามที่ใช้ว่า  "กู"  ในบทกวีนี้  แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา  ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น  ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ "ลำเลิก"  กับใคร ๆ ว่า  ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา  คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน  อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย  ความช่วยเหลือที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ในด้ายของปัจจัยในการผลิต  การพยุงหรือประกันราคา  และการรักษาความยุติธรรมทั้งปวงก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้  ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ  ชาวนาต่างก็ละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ  ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่าหรือได้เงินเร็วกว่า  แน่นอนกว่า  มีสวัสดิการดีกว่าและไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา  บางคนที่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรมก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากธัญพืชซึ่งมักจะได้ราคาต่ำ  เพราะรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมราคามาเป็นพืชเศรษฐกิจประเภทอื่นที่ราคาสูงกว่า  แต่ก็ยังมีชาวนาอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีทางที่จะขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้  อาจแย่ลงด้วยซ้ำ  แล้วก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะอิธรณ์ฎีกากับใคร  ถึงจะมีคนแบบจิตรที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจออกมาสะกิดใจคนอื่นบ้าง  แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป
               หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง  ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน  ชาวเมืองอู่ซี  มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. 772 ถึง 846  สมัยราชวงศ์ถัง  ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้เป็นบทกวีภาษาจีน  ข้าพเจ้าจะพยายามแปลด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์เหมือนบทกวีของ  จิตร ภูมิศักดิ์
                        หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ  ข้าวเมล็ดหนึ่ง
                        จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
                        รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
                        แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
                        ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน  ชาวนายังพรวนดิน
                        เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
                        ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
                        ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส
               กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในชนบท  ฉะนั้นเป็นไปได้ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น  และเกิดความสะเทือนใจจึงได้บรรยายความรู้สึกออกเป็นบทกวีที่เขาให้ชื่อว่า  "ประเพณีดั้งเดิม"  บทกวีของหลี่เชินเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน  แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี  แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร
               เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับจิตรต่างกัน  คือ  หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม  ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง
               เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป  ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันปีกว่า  สมัยจิตร  ภูมิศักดิ์เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว  สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเองก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก  ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ  เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็ยังคงจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป